เว็บอะรัยดีช้อป

เว็บอะรัยดีช้อป
http://www.webaraideeshopping.com/

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักความหมายของ H.264-MPEG-1,2,3,4

เกริ่นคร่าวๆ ก็คือ มาตรฐานในแวดวงมัลติมีเดียปัจจุบันถูกกำหนดโดยสององค์กรหลักๆ องค์การแรกคุ้นกันดีคือ MPEG ย่อมาจาก Moving Picture Expert Group  ส่วนอีกองค์กรก็เป็นพันธมิตรกัน คือ ITU-Tซึ่งเป็นหน่วยที่มีหน้าที่ออกมาตรฐานทางโทรคมนาคม ของ ITU อีกที (International Telecom Union) ถ้าใครเรียนสายเน็ตเวิร์คมาคงคุ้นกับพวก X.25/Framerelay หรือ X.509/LDAP กันดี ฝีมือ ITU-T เค้าล่ะครับ แต่วันนี้เราจะสนใจแค่มาตรฐาน H.XXX ที่เกี่ยวกับมัลติมีเดียเท่านั้น
ผลงานของ MPEG ผมเชื่อว่าห่างจากตัวคุณไม่เกินสามเมตร
                                               ภาพประกอบเท่านั้น

MPEG-1  เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับวิดีโอ กำเนิดอย่างเป็นทางการในช่วงปี 93 นำไปใช้ใน VCD ครับ
MP3  ไม่ได้เป็น MPEG-3 อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ คือใน MPEG-1 มันจะแบ่งเป็นหลายส่วน เช่น ส่วนของภาพ ส่วนของเสียง ส่วนของมีเดีย สามารถหยิบเฉพาะบางส่วนไปใช้งานจริงได้ และส่วนของเสียงใน MPEG-1 คือส่วนที่เรียกว่า Layer 2 และ Layer 3 เจ้า Layer 2 นั้นตกสมัยไปแล้ว ส่วน MPEG-1 Layer 3 ก็คือ MP3 นั่นเอง อย่าบอกนะ ว่าเครื่องคุณไม่มี
Ogg Vorbis ไม่เกี่ยวกับ MPEG แต่อย่างใด แต่เรื่องมีอยู่ว่า MP3 ได้รับความนิยมมากแบบที่ทุกคนรู้กัน ในปี 98 สถาบัน Fraunhofer Society ในเยอรมันซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรวิธีการบีบอัดเสียงใน MP3 ประกาศเตรียมคิดเงินกับผู้ใช้งาน (ทำให้ Fedora/Ubuntu ตัดสินใจเอา MP3 ออกเพราะเหตุนี้) จึงมีคนกลุ่มนึงประกาศสร้างสิ่งของที่เท่าเทียมกับ MP3 ขึ้นมา แต่ไม่มีลิขสิทธิ์ใดๆ (Public Domain) ซึ่งยิ่งกว่าโอเพ่นซอร์สอีกเพราะว่าโอเพ่นซอร์สมีลิขสิทธิ์เพียงแต่อนุญาตให้ใช้งานได้ฟรี ปี 2002 Ogg Vorbis 1.0 จึงปรากฎกายออกมา และกลายเป็นหนึ่งในฟอร์แมตออดิโอหลักที่ทุกโปรแกรมต้องมี ไฟล์นามสกุล .ogg นะครับ
มาตรฐานอื่นๆ ที่เทียบเคียง MP3 ได้ก็มี ATRAC ของโซนี่, AC-3 ของ Dolby Digital, mp3PRO และ Windows Media Audio (.wma) ของไมโครซอพท์
MPEG-2  ปี 94 โลกก็พัฒนาขึ้นไปอีกขั้นเมื่อมาตรฐาน MPEG-2 ถูกคิดมาไว้รอรับ DVD ความแตกต่างกับ MPEG-1 ก็มีไม่มากนัก ยกเว้นเรื่องการเข้ารหัส/ถอดรหัสที่ใช้วิธีทันสมัยมากขึ้น แผ่นดีวีดีทุกแผ่นที่จับอยู่ก็เก็บข้อมูลเป็น MPEG-2 นี่ล่ะครับ
MPEG-3  เมื่อเทรนด์ HDTV (High Definition TV)  มาแรง ซึ่งเมืองนอกเค้าก็แรงจริงเริ่มมีใช้กันแล้ว บ้านเราขอแค่สัญญาณไม่ขาดก็ดีถมเถ ทาง MPEG เลยคิดค้นมาตรฐานมาใช้กับ HDTV ด้วย แต่สุดท้ายก็ล้มไป เพราะพบว่าแค่ MPEG-2 ที่มีอยู่เดิมก็พอสำหรับ HDTV แล้ว
MPEG-4  เป็นส่วนขยายของ MPEG-1 เพื่อรับรูปแบบมัลติมีเดียต่างๆ เช่น 3D หรือการเข้ารหัสที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นเคยว่า MPEG-4 แบ่งออกเป็นหลายส่วนตามหน้าที่แต่ละส่วน และทาง MPEG จะปล่อยให้ผู้ผลิตซอพท์แวร์เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมที่ใช้จริงๆ เอง ไม่จำเป็นต้องตาม MPEG-4 เต็มชุดก็ได้ พัฒนาได้เป็นบางส่วนก็พอ (แบบเดียวกับ MP3 ที่หยิบแต่ส่วนออดิโอไปทำ) รายละเอียดว่าทั้งหมดมีอะไรบ้าง ดูตามลิงค์ ผมยกมาเฉพาะอันสำคัญๆ
MPEG-4 part 2 รับผิดชอบกับการจัดการวิดีโอ ฟอร์แมตวิดีโอสำคัญๆ หลายตัวอิมพลีเมนต์ตาม part 2 นี้
DivX  ผู้พัฒนา part2 คนแรกๆ คือไมโครซอพท์ (.asf) และ DivX ในยุคแรกๆ ก็เป็นเวอร์ชันที่แฮค .asf ให้เก็บเป็น .avi ได้ ในภายหลัง DivX ได้แก้ไขให้เป็นอัลกอริทึมของตัวเอง และแจกให้ใช้ฟรี (binary) ส่วน source นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท DivXNetworks ซึ่งก็ก่อตั้งโดยบรรดาแฮกเกอร์ที่แฮกไมโครซอพท์นั่นล่ะ ปัจจุบัน DivX ได้รับความนิยมสูงมากโดยเฉพาะโลกของหนังที่ริป (เข้ารหัสใหม่) มาจากดีวีดี และอนิเมแฟนซับ เพราะได้คุณภาพเท่าดีวีดีในขนาดเท่าซีดี
XviD  พอ DivXNetworks ตั้งไข่ได้ ก็โอเพ่นซอร์สข้อมูลบางส่วนใต้โครงการ OpenDivX และมีนักพัฒนาสนใจใช้งานกันเยอะ แต่ภายหลังได้เกิดเหตุการณ์เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดขึ้น DivXNetworks ทรยศชุมชน OpenDivX โดยหยุดพัฒนาไปเสียอย่างนั้น ทางชุมชนจึงแก้แค้นโดยการพัฒนารูปแบบการเข้า/ถอดรหัส (codec) ที่เป็นโอเพ่นซอร์สขึ้นมาแข่งกับ DivX และใช้ชื่อชนกันโต้งๆ ว่า XviD (เขียนกลับหลัง) ระดับความนิยมนั้นใกล้เคียงกับ DivX
Ogg Theora  เช่นเคยครับ Ogg สร้าง Vorbis ขึ้นมาด้วยแนวคิดจิตใจงดงามกว่าโอเพ่นซอร์ส (เพราะเป็น public domain) ยังไง Theora ก็คือ Vorbis เวอร์ชันวิดีโอยังงั้นเลย การพัฒนายังไม่เสร็จ ความนิยมก็ยังไม่เยอะครับ
QuickTime 6 ฟอร์แมตที่ใช้ดูตัวอย่างหนังของแอปเปิล ก็รวมอยู่ใน part2 นี้ เช่นเดียวกับ Windows Media Vieo 9 (.wmv) ครับ
MPEG-4 part 3 ใน part 2 รับเรื่องวิดีโอไป part 3 เป็นเรื่องของออดิโอครับ
AAC (Advance Audio Coding)  เป็นการอิมพลีเมนต์ตาม MPEG-4 part 3 แน่นอนว่า MPEG-1 หรือจะสู้ MPEG-4 คุณภาพเค้าบอกว่า 96 kbps AAC เท่ากับ 128 kbps MP3 เลยล่ะ ผู้ผลักดันหลักคือแอปเปิล เพลงทุกเพลงที่ขายออกจาก iTunes Music Store เป็น AAC ครับ นามสกุลของมันเป็น .mp4 หรือ .m4a ด้วยเหตุผลทางการตลาดของแอปเปิลว่า 4 มันต้องดีกว่า 3 สิ
MPEG-4 part 10 ในส่วนที่ 10 นี้ดูแล Advance Video Coding หรือส่วนของวิดีโอที่ดีกว่า part 2 เรียกย่อๆ ว่า AVC
H.264  ไม่ต่างอะไรกับ AVC เพียงแต่ AVC เป็นชื่อของทาง MPEG ส่วน H.264 เป็นชื่อของ ITU-T เท่านั้นเอง (H.262 คือ MPEG-2 ส่วน H.263 นั้นล้าสมัยไปแล้ว ถูก H.264 แซง) เจ้า H.264 นี้เป็นตัวเข้าและถอดรหัสวิดีโอแห่งอนาคต แอปเปิลก็โปรโมทนักหนาว่า มันจะอยู่ใน OSX 10.4 Tiger ทั้งดูหนังผ่าน QuickTime 7 และคุยกับเพื่อนๆ ผ่านทาง iChat (Apple H.264 Faq) นอกจากแอปเปิลแล้ว H.264 เริ่มถูกนำไปใช้ในระบบทีวีแบบใหม่ของญี่ปุ่นและยุโรป ที่น่าสนใจกว่านั้น คือไม่ว่ามาตรฐานแผ่นดิสก์ยุคหน้าใครจะเป็นผู้ชนะ ระหว่าง HDDVD กับ Bluray ทั้งคู่ใช้ H.264 ครับ เอ้อ PSP ก็สนับสนุนด้วยนะ
MPEG-7  มาดูมาตรฐานอื่นๆ บ้าง MPEG-7 ไม่ใช่มาตรฐานเกี่ยวกับภาพและเสียงเหมือนอันอื่นๆ แต่เป็นมาตรฐานที่ใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวมีเดีย (metadata) เช่น หนังแผ่นนี้ชื่ออะไร หรือถ้าหนังเล่นมาถึงตอนนี้ ให้เล่นเพลงนี้ พร้อมขึ้นซับไทเทิลไฟล์นี้ เป็นต้น อิมพลีเมนต์โดย XML
MPEG-21  เป็นมาตรฐานมัลติมีเดียในอนาคตครับ ตอนนี้กำลังร่างกันอยู่ ได้ข่าวผ่านๆ มาว่าจะมุ่งเน้นการใช้งานมัลติมีเดียผ่านเครือข่าย มากกว่าวิธีการแสดงผลแบบใน 1-2-4 ครับ

ที่มา http://www.cctvbangkok.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม 10 อันดับ