Android เป็นระบบปฏิบัติการของ Google ที่รันบนสมาร์ทโฟน มีการพัฒนารุ่นต่างๆ ที่เราใช้งานกันตั้งแต่ 2.2 -> 2.3 ที่เพิ่มความสามารถในการทำงานที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น การ Tethering กระจายสัญญาณ Wi-Fi ให้กับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อนๆ รอบข้างก็มีคนซื้อมือถือสมาร์ทโฟน Android มาเพื่อใช้เป็น Wi-Fi Tethering ก็มี ระบบปฏิบัติการ Android ใช้ควบคุมฮาร์ดแวร์อย่างการประมวลผลการทำงานด้วยซีพียู ประมวลผลภาพด้วยจีพียู เช่นเดียวกับคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ที่มีระบบปฏิบัติการหรือ OS เพื่อควบคุมการทำงานของฮาร์ดแวร์ และติดตั้งแอพพลิเคชั่นเพื่อเสริมความสามารถในการทำงานของตัวเครื่องให้เหมาะสมกับความต้องการในการใช้งานของเรา
รู้จักกับ Ice Cream Sandwich
ICS เป็นคำเรียก จากชื่อโค้ดเนมระบบปฏิบัติการ Android 4 ชื่อเต็มๆว่า IceCream Sandwich ที่เรียกได้ว่า เปลี่ยนแปลงแพล็ตฟอร์มของโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช่แค่การอัพเดตเวอร์ชั่นของระบบปฏิบัติการ แต่เป็นการ “อัพเกรด” ปรับปรุงความสามารถในการทำงาน รองรับการทำงานแบบมัลติทาร์กกิ้ง (การทำงานพร้อมกันหลายแอพพลิเคชั่น โดยที่สามารถสลับการทำงานแอพได้โดยไม่ต้องปิดแอพ) การมีระบบเตือน Notification อย่างอีเมล์ใหม่ ข้อความใหม่บนโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ การปรับแต่งหน้าตาของ Home Screen บนมือถือให้เป็นรูปแบบที่เราถนัดและสะดวกในการใช้งาน รวมไปถึงการกำหนดวิทเก็จต่างๆ รวมไปถึงพัฒนารูปแบบการทำงานให้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น จะเรียกว่าเป็นการอัพเกรดระบบใหม่เลยก็ว่าได้
ในความเป็นจริงแล้ว Android 2.3 เป็นต้นมาก็ทำงานได้ดี ไม่มีอาการค้าง แฮ้งค์ ให้พบเจอเหมือนรุ่นก่อนๆ มีการปรับแต่งหน้าตาให้สวยงามน่าใช้ การปัดนิ้ว การลาก การถ่างนิ้วเพื่อควบคุม และจุดเด่นของ ICS ก็คือ การทำงานแบบมัลติทาร์กกิ้ง การสลับแอพ อย่างเช่น การคัดลอกข้อความไปโพสบน โซเชียล เน็ตเวิร์ค การเปิดแอพหนึ่งไว้ แล้วสลับไปใช้อีกแอพหนึ่ง แล้วกลับมาใช้งานแอพเดิมที่ใช้งานก่อนหน้านี้ได้โดยไม่ต้องปิดแอพ
จำเป็นไหมที่จะต้องอัพเดต อัพเดตแล้วได้อะไร?
คำถามแรก จำเป็นไหมที่จะต้องอัพเดต ก่อนอื่นจะต้องตรวจสอบก่อนว่า โทรศัพท์มือถือของคุณ รองรับการอัพเดตเป็น ICS หรือไม่ ตอนนี้มือถือรุ่นที่เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆอย่าง Galaxy Nexus สามารถใช้งาน ICS ได้เลย ส่วนใครที่เป็นเจ้าของรุ่นอื่นๆ ก็ลองติดตามข่าวกันดูครับ จริงๆแล้วหากใครรู้เทคนิคเชิงลึกสักหน่อยก็หารอม ICS มาใช้งานเองได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงกันเอง ใครที่ไม่แน่ใจ อดใจรอรอมที่เป็นทางการจากผู้ผลิตดีกว่า
ข้อมูลจาก Android Developers และ Andriod
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น